โลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์
โลหิตจาง คือ ภาวะที่มีฮีโมโกลบินต่ำกว่าปกติ ค่าปกติของความเข้มข้นของเลือด ในผู้ชายจะมีฮีโมโกลบินประมาณ 15 กรัมต่อเลือด 100 มิลลิมิตร หรือกรัมเปอร์เซ็นต์
สำหรับผู้หญิงค่าปกติจะประมาณ 14 กรัมเปอร์เซ็นต์ในภาวะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ถ้าค่าต่ำกว่า 11 กรัมเปอร์เซ็นต์ จัดว่าเป็นโรคเลือดจาง
ในระหว่างตั้งครรภ์ถ้ามีฮีโมโกลบิลต่ำกว่า 11 กรัมเปอร์เซนต์ ในไตรมาสที่หนึ่ง และสาม และต่ำกว่า 10.5 กรัมเปอร์เซนต์ ในไตรมาสที่สอง ก็ถือว่าเป็นโรคโลหิตจาง เพราะในระยะการตั้งครรภ์นี้จะมีปริมาตรน้ำเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้ความเข้มข้นของเลือดลดลงกว่าปกติ
โลหิตจางในแม่ตั้งครรภ์เกิดจากหลายสาเหตุ:
- ขาดธาตุเหล็ก
- ขาดกรดโฟลิค เพราะกินอาหารไม่ครบถ้วน เช่น ไม่กินผักสด หรือพืชประเภทถั่ว
- สูญเสียเลือดขณะตั้งครรภ์ เช่น มีภาวะรกเกาะต่ำ ทำให้เลือดออกทางช่องคลอดเป็นระยะๆ หรือมีการเสียเลือดจากเป็นพยาธิปากขอ
- ว่าที่คุณแม่เป็นพาหะหรือมีพันธุกรรมแฝงของธาลัสซีเมีย โดยสถิติคนไทยเป็นพาหะของโรคนี้กันค่อนข้างมาก
- มีความผิดปกติของไขกระดูก แต่โรคนี้พบได้น้อย
ผลกระทบของโลหิตจางต่อสตรีตั้งครรภ์
- คุณแม่จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้หัวใจล้มเหลวได้ง่าย
- เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- เสี่ยงต่อการแท้ง
- เสียเลือดจากการคลอดหรือการตั้งครรภ์ ทำให้ช็อคหรือไตล้มเหลวได้ง่าย
- ติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ
- ทารกโตช้าในครรภ์
การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะโลหิตจางหรือไม่
ต้องตรวจเลือดเพิ่มเติม หลังจากนั้นสูติแพทย์ก็จะรักษาอาการตามสาเหตุ
- ถ้าเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก เพียงแค่เพิ่มธาตุเหล็กให้คุณแม่ พัฒนาการของทารกในครรภ์ ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 1 สัปดาห์
- ถ้าเป็นภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการเป็นพาหะหรือมีพันธุกรรมแฝงของธาลัสซีเมีย แพทย์จำเป็นต้องตรวจเลือดของคู่สมรสด้วย หากว่าที่คุณแม่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียเพียงคนเดียว ทารกในครรภ์ก็จะเป็นปกติ แต่มีโอกาสเป็นพาหะหรือมีพันธุกรรมแฝงเหมือนแม่ ประมาณร้อยละ 50 แต่ถ้าตรวจพบว่า ว่าที่คุณพ่อเป็นพาหะของธาลัสซีเมียด้วย เด็กในท้อง จะมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมีย ร้อยละ 25
สำหรับคุณแม่ที่ไม่มีภาวะโลหิตจาง ก็จำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็กเช่นเดียวกัน การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ตามปกติ ไม่สามารถชดเชยธาตุเหล็กให้เพียงพอกับพัฒนาการของลูกในท้องได้ เพราะธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่ร่างกายดูดซึมได้น้อย เพียงร้อยละ 10 ของปริมาณที่กินเข้าไปเท่านั้น
การป้องกัน ก่อนตั้งครรภ์ควรมีการตรวจเช็คร่างกายว่ามีโลหิตจางหรือไม่ ถ้าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรรับประทานอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติก่อนจึงตั้งครรภ์ ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย สามารถตรวจคัดกรองได้ว่าลูกจะเสี่ยงหรือไม่ โดยการตรวจเลือดของพ่อแม่ว่าเป็นพาหะหรือไม่
บทความนี้มีประโยชน์กับคุณหรือไม่?