วิธีคลอดลูก มีทางเลือกในการคลอดลูกอะไรบ้าง
14 ธ.ค. 63
152
ทางเลือกในการคลอดลูก

วิธีคลอดลูกนั้นมีหลายวิธี ซึ่งมีทั้งคลอดลูกแบบธรรมชาติ ผ่าตัดคลอด คุณแม่สามารถเลือกวิธีที่ดีที่สุดต่อสุขภาพของคุณและลูกน้อยได้ ในต่างประเทศ คุณแม่อาจเลือกทำคลอดที่บ้านได้ แต่สำหรับประเทศไทย คุณแม่จะคลอดที่โรงพยาบาล เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม และมีความปลอดภัยกว่า

วิธีการคลอดลูก แบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ 1. คลอดลูกแบบธรรมชาติ 2. ผ่าตัดคลอด

1. คลอดลูกแบบธรรมชาติ
สำหรับคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง การคลอดลูกแบบธรรมชาติจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อย สูติแพทย์จะตรวจดูช่วงใกล้ถึงกำหนดคลอดว่าทารกในครรภ์อยู่ในท่าศีรษะกลับลงสู่เชิงกรานหรือไม่ การคลอดธรรมชาตินั้น คุณแม่จะรู้สึกเจ็บครรภ์ตามธรรมชาติซึ่งจะไม่เกินความอดทนสำหรับคุณแม่ที่มีต่อลูกน้อย หากคุณแม่ปวดมากจนทนไม่ได้ สูติแพทย์อาจฉีดยาแก้ปวดเข้าทางเส้นเลือดหรือฉีดยาชาเข้าทางไขสันหลังเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดให้คุณแม่

ข้อดีข้อเสียของการคลอดลูกแบบธรรมชาติ

ข้อดีของการคลอดลูกแบบธรรมชาติ
  1. ค่าใช้จ่ายถูกกว่าผ่าตัดคลอด
  2. ฟื้นตัวได้เร็วกว่าผ่าคลอด
  3. ระหว่างที่คลอดทารกผ่านช่องคลอด ช่องคลอดจะบีบส่วนช่องอกของทารกเพื่อรีดเอาน้ำคร่ำที่คั่งค้างอยู่ในปอด ทำให้ปอดไม่ชื้น เมื่อลูกน้อยสูดอากาศหายใจเข้าครั้งแรก ต่างจากทารกที่ผ่าคลอด ซึ่งทรวงอกของทารกจะไม่ได้รับการรีดน้ำออก จึงมีโอกาสที่จะมีน้ำคั่งในปอดและหายใจเร็วได้
  4. ระหว่างที่คลอดผ่านช่องคลอด ลูกจะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพหรือโพรไบโอติก ที่อยู่ในช่องคลอดของแม่ผ่านทางปากสู่ลำไส้ซึ่งจะไปกระตุ้นภูมิต้านทาน ทำให้เกิดภูมิต้านทานโรคและป้องกันโรคอักเสบติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบ และอุจจาระร่วง ซึ่งการผ่าตัดคลอดลูก จะไม่ได้รับจุลินทรีย์สุขภาพ เพราะเด็กถูกนำออกมาจากมดลูกโดยตรง ไม่ได้ผ่านออกมาทางช่องคลอด
ข้อเสียของการคลอดลูกธรรมชาติ
  1. กำหนดวันเวลาในการคลอดลูกไม่ได้
  2. ต้องทนเจ็บปวดอยู่นาน
  3. มีโอกาสต้องเปลี่ยนไปผ่าตัดคลอด เนื่องจาก ปากมดลูกไม่เปิดเพิ่ม คลอดไม่ออก หัวใจลูกเต้นช้า
เมื่อทราบถึงข้อดี ข้อเสีย ของการคลอดธรรมชาติแล้ว คุณแม่คงอยากจะทราบว่า คลอดธรรมชาติ จะต้องใช้เวลารอนานเท่าไร จึงจะคลอด
โดยปกติแล้วระยะการคลอดจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ1 คือ

1. ระยะเจ็บครรภ์จริง (First stage of labour)
จะเริ่มตั้งแต่เจ็บครรภ์จริง ๆ เมื่อปากมดลูกเริ่มขยายจนกระทั่งปากมดลูกขยายเต็มที่ พร้อมให้คุณแม่เบ่งคลอดลูกได้ (ปากมดลูกเปิดเต็มที่ หมายถึง ปากมดลูกซึ่งเดิมกว้างไม่ถึง 1 เซนติเมตรขยายกว้างพอที่หัวลูกจะผ่านออกมาได้ (โดยปกติจะมีความกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร) ในระยะนี้เป็นระยะที่คุณแม่จะต้องนอนรออยู่ในห้องรอคลอด ซึ่งจะใช้เวลารวม ๆ กันแล้วประมาณ 12-18 ชั่วโมง ในท้องแรก และในท้องหลังจะใช้เวลา 8-12 ชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงแรก หรือ ระยะเฉื่อย (Latent phase) ตั้งแต่ปากมดลูกเริ่มเปิดหรือเริ่มเจ็บครรภ์จริงไปจนปากมดลูกเปิด 3-4 เซนติเมตร ในช่วงนี้คุณแม่จะมีอาการเจ็บไม่มาก ในท้องแรกอาจใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง และในท้องหลังจะใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง

ช่วงที่สอง หรือ ระยะเร่ง (Active phase) จะเป็นช่วงที่มดลูกหดรัดตัวถี่ขึ้น ถุงน้ำคร่ำมักจะแตกในระยะนี้ถ้าคุณแม่ไม่มีน้ำเดินมาก่อน แต่ในบางรายแพทย์มักใช้เครื่องมือช่วยเจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อให้การคลอดลูกดำเนินไปได้ด้วยดี มดลูกจะหดรัดตัวถี่ แรง และนานขึ้น คุณแม่จะรู้สึกเจ็บท้องมากจนกระทั่งปากมดลูกเปิดหมด ถ้าเป็นคุณแม่ท้องแรกจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง แต่ในท้องหลังจะใช้เวลา 2-4 ชั่วโมง (ในระยะนี้คุณแม่หลายคนอาจรู้สึกอยากเบ่งคลอด แต่ถ้าเบ่งแล้วรู้สึกเจ็บ แสดงว่าปากมดลูกยังขยายไม่เต็มที่ ต้องรอให้แพทย์ดูว่าปากมดลูกเปิดแล้วถึงจะเบ่งได้)

2. ระยะเบ่งคลอด (Second stage of labour)
จะเริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดหมดและคุณแม่เริ่มเบ่งคลอดจนกระทั่งคลอดลูกน้อยออกมา หมอและพยาบาลจะย้ายคุณแม่จากห้องรอคลอดเข้ามาอยู่ในห้องคลอด ในคุณแม่ท้องแรกจะใช้เวลา
ประมาณ 30 นาที (ไม่เกิน 60 นาที) ถ้าเบ่งนานเกิน 60 นาทีถือว่าเบ่งนานผิดปกติ หมอมักพิจารณาให้การช่วยเหลือการคลอด ส่วนในคุณแม่ท้องหลังจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที (ไม่เกิน 30 นาที)

3.ระยะคลอดรก (Third stage of labour)
จะเริ่มตั้งแต่ลูกน้อยคลอดออกมาจนกระทั่งรกคลอด ซึ่งจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่ถ้าเกิน 30 นาทีจะต้องช่วยโดยการล้วงรก

4. ระยะสังเกตอาการหลังคลอด
จะเริ่มตั้งแต่รกคลอดไปเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เป็นระยะที่หมอหรือพยาบาลจะเย็บซ่อมฝีเย็บให้เรียบร้อยและดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิดในห้องสังเกตอาการหลังคลอด เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที เช่น มีการตกเลือดหลังคลอด


2.ผ่าตัดคลอดลูก
ในปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดลูกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีเครื่องมือที่ทันสมัย และมีความปลอดภัย คุณแม่มีลูกกันช้าลง อายุมากขึ้น คลอดธรรมชาติยากขึ้น ยังไม่รวมโรคประจำตัวอย่าง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และที่สำคัญไม่ต้องเจ็บคลอดเอง ทำให้การผ่าคลอดเป็นทางเลือกที่นิยมมากสมัยนี้ นอกจากนั้น ก็มีพ่อแม่บางคนที่ถือฤกษ์ถือยาม จึงเลือกการผ่าตัดคลอดมากกว่า ด้วยความเชื่อว่าเวลาเกิดที่ดี จะช่วยส่งเสริมความเจริญให้กับชีวิตลูก

ช้อดีข้อเสียของการผ่าคลอด

ข้อดีของการผ่าคลอดลูก
  1. ไม่ต้องทนเจ็บนาน
  2. กำหนดเวลาคลอดตามฤกษ์ได้
  3. ไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะรอคลอด เช่น หัวใจเด็กเต้นช้า สายสะดือโผล่ ฯลฯ

ข้อเสียของการผ่าคลอดลูก
  1. ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการคลอดธรรมชาติ
  2. เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการดมยาสลบหรือบล็อกหลัง
  3. ฟื้นตัวช้ากว่าคลอดธรรมชาติ
  4. มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการคลอดธรรมชาติ เช่น การเสียเลือดมากกว่าการคลอดปกติเกือบเท่าตัว บางรายตกเลือด แผลผ่าตัดมีการอักเสบติดเชื้อ
  5. มีโอกาสเกิดพังผืดในช่องท้อง (Adhesion) ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการหายของแผลผ่าคลอด
  6. มีโอกาสเสี่ยงต่อมดลูกแตกในครรภ์ถัดไป เนื่องจากมีรอยแผลผ่าคลอดที่มดลูก
  7. ผ่าคลอดครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปก็มักจะต้องผ่าคลอดอีก
  8. เด็กที่เกิดจากการผ่าคลอด เสี่ยงต่อการเกิดภาวะที่จะมีน้ำคั่งในปอดและหายใจเร็วได้ เนื่องจากไม่ได้ถูกรีดน้ำออกจากปอดระหว่างคลอด
  9. เด็กที่เกิดจากการผ่าคลอด จะไม่ได้รับจุลินทรีย์สุขภาพที่อยู่ที่บริเวณช่องคลอด จึงอาจทำให้ลูกที่ผ่าคลอดมีระบบภูมิต้านทานที่พัฒนาช้ากว่าเด็กคลอดธรรมชาติ ทำให้เด็กผ่าคลอดมีโอกาสเจ็บป่วย มากกว่าเด็กที่คลอดธรรมชาติ
เมื่อต้องผ่าตัดคลอด วิสัญญีแพทย์ จะแนะนำให้คุณแม่ดมยาสลบหรือฉีดยาเข้าไขสันหลังเพื่อลดความเจ็บปวดและทำการผ่าตัดอย่างได้ผล โดยคุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บระหว่างผ่าตัด

ข้อดีข้อเสียของการดมยาสลบและบล็อกหลัง
  1. การคลอดลูกด้วยการดมยาสลบ คุณแม่จะไม่สามารถเห็นหน้าลูกทันทีที่เขาคลอด เพราะจะหลับไม่รู้ตัวและฟื้นอีกทีหลังคลอด คุณแม่ส่วนใหญ่ จึงไม่เลือกวิธีนี้ อีกทั้ง ยาสลบอาจมีผลต่อลูกได้ เช่น ลูกคลอดแล้วไม่ร้อง ไม่ค่อยหายใจ เพราะเขาได้รับยาสลบเข้าไปด้วย
  2. การฉีดยาเข้าไขสันหลังหรือบล็อกหลังนั้น ลูกน้อยไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะยาไม่ได้ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพียงแต่จะทำให้ส่วนล่างชา ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด แต่คุณแม่สามารถรับรู้ได้ทุกอย่าง พร้อมทั้งได้ยินเสียงและเห็นหน้าลูกทันทีที่เขาคลอดออกมา
การเตรียมตัวก่อนผ่าคลอดลูก
  1. แพทย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการผ่าท้องคลอดและให้ลงชื่อยินยอมผ่าตัด
  2. งดน้ำและอาหารทางปาก อย่างน้อย 8 ชม.
  3. ทำความสะอาดและโกนขนบริเวณสะดือและท้องน้อยตรงตำแหน่งที่จะผ่าตัด
  4. เจาะเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และสำรองเลือดไว้ในกรณีที่เสียเลือดมากระหว่างผ่าตัด
  5. ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
  6. ใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อระบายน้ำปัสสาวะไม่ให้กระเพาะปัสสาวะโป่งพอง ช่วยป้องกันอันตรายต่อกระเพาะปัสสาวะขณะผ่าตัด และช่วยให้เห็นส่วนล่างของมดลูกได้ชัดเจน
  7. สวนอุจจาระเพื่อให้ทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนล่างปราศจากอุจจาระ
7 ขั้นตอนการผ่าคลอดลูก
  1. เมื่อเข้าสู่ห้องผ่าตัด จะจัดท่าให้คุณแม่นอนหงาย เอียงตัวไปทางซ้ายหรือดันมดลูกไปทางซ้าย เพื่อป้องกันมดลูกไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่
  2. วิสัญญีแพทย์ ให้ยาระงับความรู้สึก
  3. ทำความสะอาดหน้าท้องและตำแหน่งที่จะผ่าตัด
  4. แพทย์ลงแผลผ่าตัด บริเวณหน้าท้อง แผลผ่าตัดอาจเป็นแนวตรงจากใต้สะดือถึงหัวหน่าวหรือแนวขวางบริเวณเหนือหัวหน่าวยาวประมาณ 10 ซม.
  5. ผ่าตัดแยกผนังหน้าท้องชั้นต่าง ๆ ทีละชั้น จนถึงตัวมดลูก
  6. แพทย์ผ่าตัดที่ตัวมดลูก จากนั้นทำคลอดทารก และรก
  7. เย็บซ่อมมดลูกและผนังมดลูกทีละชั้นจนถึงชั้นผิวหนัง
ไม่ว่าคุณแม่จะคลอดลูกโดยวิธีไหน สิ่งสำคัญ คือ ความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยเป็นหลัก สูติแพทย์ที่คุณแม่ฝากท้องไว้ จะแนะนำวิธีการคลอดที่เหมาะสมที่สุดกับคุณแม่เพื่อให้ลูกน้อยเกิดรอด และแม่ปลอดภัย
 

บทความที่เกี่ยวข้อง